หลังจากการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ทำให้ออกไปไหนมาไหนไม่ได้ และสถานการณ์ก็ดูน่าเป็นห่วงขึ้นทุกวัน ๆ ภาครัฐสั่ง Lockdown ธุรกิจเล็กใหญ่ก็เริ่มกลับเข้าบ้าน และสั่งให้พนักงาน Work From Home กันอีกครั้งจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ระหว่างนี้ก็ได้แต่หวังว่าทุกอย่างจะกลับมาปกติโดยเร็ววัน เพราะเราก็เชื่อว่าทุกคนคงไม่ได้ต้องการ New Normal หากแต่เป็นความปกติที่ปกติอย่างแท้จริงกลับคืนมา
ในขณะที่บางส่วนอาจฝันถึงการได้นั่งทำงานสบาย ๆ ในบ้านแสนอบอุ่นของตัวเอง มีเวลานอนมากขึ้นอีกนิด ไม่ต้องเดินทางไปเข้าออฟฟิศเบียดเสียดผู้คนบนขนส่งสาธารณะ แต่การทำงานแบบ Work From Home ในช่วงล็อกดาวน์นั้นก็เหมือนเป็นดาบสองคม เพราะมันจะยิ่งยากต่อการโฟกัสกับงานที่ต้องทำ (ยอมรับว่าผู้เขียนเองก็ว่อกแว่กอยู่บ่อย ๆ) เพราะระหว่างนั้น กองผ้ามหึมาที่ใส่ทิ้งไว้ก็ดูน่าขนลงไปซักขึ้นมาเสียดื้อๆ หรือไม่ก็แวะไปดูซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ที่ดูค้างไว้สักครึ่งชั่วโมง (แต่ก็ไม่เคยจบที่ครึ่งชั่วโมง) การรักษาความขยันทำงานในสภาพแวดล้อมที่บ้านนั้นต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติ และที่มากไปกว่านั้น การกักตัวอยู่คนเดียวก็เป็นอีกปัจจัยใหญ่ที่ทำให้คนที่ปกติต้องเจ๊าะแจ๊ะกับเพื่อนร่วมงานต้องเศร้าซึมกันไปได้ และแน่นอน หลายๆ คนก็ชอบทำงานที่ออฟฟิศมากกว่า
ฉะนั้นก่อนอื่นเลย ขอแนะนำให้คุณนั่งตัวตรง รับประทานอาหารเช้า ใส่ชุดตัวเก่งให้เหมือนออกไปเที่ยวข้างนอก และหลังจากนั้นมีทิปส์อะไรเพื่อช่วยให้คุณจดจ่อกับงานและรักษาสุขภาพจิตในสภาพการทำงานแบบนี้ได้บ้างนะ?
หามุมดีๆ ที่นั่งทำงานได้สบาย
พยายามหามุมหนึ่งในบ้าน จัดแจงให้เป็นมุมทำงานโดยเฉพาะ โดยเป็นจุดที่สามารถเข้าทำงานและหนีออกมาได้เมื่อถึงเวลา Clock-out มุมนั้นอาจเป็นโต๊ะทำงานหรือหน้าคอมพิวเตอร์ก็ได้ แต่คงไม่ต้องบอกนะว่าอย่าทำงานบนโซฟา และที่แน่ ๆ คือไม่ใช่บนเตียง
จัดแจงโฮมออฟฟิศ ปิดกลอนใส่ประตู ปิดสิ่งเร้าภายนอกให้หมด ล็อกดาวน์อยู่ในบริเวณบ้านของตัวเอง ไม่ต้องพบหน้าใคร ไม่ต้องเสี่ยงแพร่เชื้อไวรัสให้เพื่อนบ้าน และปลอดภัยในมุมที่นั่งทำงานได้อย่างสบาย
ไม่ห่างเพื่อนคุยแม้ช่วงล็อกดาวน์
แม้ปกติเวลาอยู่ออฟฟิศคุณอาจจดจ่อกับงานได้ง่ายกว่าเมื่อไม่มีเสียงเจ๊าะแจ๊ะของเพื่อนร่วมงานเหมือนแมลงหวี่แมลงวันตอมหู แต่ในสถานการณ์ที่ต่างคนต่างห่างจากสังคมโลกภายนอกแบบนี้ การมีใครสักคนที่สามารถเจ๊าะแจ๊ะพูดคุยระหว่างพักเบรกได้อาจช่วยให้จิตใจไม่ห่อเหี่ยวนัก การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานจะช่วยลดความว้าเหว่และผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างวันได้ ดร.ถุย-วี เหวียน จาก Durham University ผู้วิจัยผลกระทบของการอยู่อย่างโดดเดี่ยว คิดว่าผลกระทบทางจิตของการทำงานทางไกลเป็นเวลานานนั้นมักถูกมองข้าม แม้ว่าจะเป็นปัจจัยในการรักษาสุขภาพจิตและการสร้างความสัมพันธ์ในทีมอย่างมากก็ตาม
"เราเป็นสัตว์สังคม เราเคยชินกับการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และมันช่วยสร้างความใกล้ชิดและช่วยให้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น" ดร.เหวียนกล่าว
สำหรับการเติมเต็มส่วนที่ขาดหายจากการทำงานทางไกลนั้น ดร.เหวียนแนะนำให้หาเพื่อนร่วมงานที่ทักไปคุยได้เสมอ หรือไม่อย่างนั้น ก็คุยกับเพื่อนที่ทำงานที่อื่นและมีประสบการณ์ร่วมในส่วนนี้ การคุยผ่านวิดีโอคอลก็อาจจะดีกว่าเห็นแค่ข้อความก็ได้นะ
วางแพลนในแต่ละวัน
ดร.เหวียนยังแนะนำอีกว่าเมื่อทำงานคนเดียว ควรวางแผนการทำงานในแต่ละวันให้แน่นหนามากขึ้น
"โดยส่วนใหญ่ โครงสร้างและการรับรู้เวลาของเรานั้นได้รับอิทธิพลจากคนรอบข้าง" เธอกล่าว "เมื่อทำงานที่บ้านคุณจะรับรู้โครงสร้างของแต่ละวันไม่เหมือนปกติ หลายคนอาจรับมือกับมันไม่ได้ ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เราค้นพบคือการใช้เวลาในแต่ละวันคนเดียวจะง่ายขึ้นหากมันมีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน"
สื่อสารกันมากพอหรือยัง?
ทีมต้องก้าวผ่านการรับส่งอีเมลทางเดียว และใช้เครื่องมือดิจิทัลที่มีในยุคนี้เพื่อจำลองสภาพแวดล้อมการทำงานที่ออฟฟิศมาไว้ที่บ้านให้ได้มากที่สุดและสื่อสารกันได้อย่างชัดเจน
เราขอแนะนำแอปพลิเคชันแชทเช่น Slack, Lark และแอปประชุมวิดีโออย่าง Zoom หรือ Google Meet ซึ่งมีฟีเจอร์ Screen-sharing ที่ช่วยให้คุยงานได้อย่างราบรื่น
นอกจากนี้ การสื่อสารอย่างทั่วถึงเมื่อทำงานทางไกลจะช่วยรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน และผู้บริหาร และยังเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารต้องสนับสนุนให้พนักงานแสดงความเห็นหรือข้อกังวลที่มีต่อโปรเจกต์ เพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกว่าถูกมองข้ามแค่เพราะไม่ได้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมห้องเดียวกัน
ระลึกไว้ว่าแต่ละคนมีวิธีทำงานต่างกัน
ผู้บริหารต้องจำไว้ว่าไม่ใช่พนักงานทุกคนที่อยาก Work From Home และอาจเป็นการเปลี่ยนผ่านที่ยากจะรับมือสำหรับหลายคน ในวันนี้ที่หลายบริษัทบังคับให้พนักงานทำงานที่บ้าน ทุกคนต้องสื่อสารกันให้มากกว่าที่เคยทำเพื่อช่วยทุกคนที่กำลังประสบความลำบากในการรับมือความเปลี่ยนแปลงนั้น
"หากฝ่ายบริหารบังคับให้ทุกคนทำงานที่บ้าน ก็จะยิ่งเพิ่มความเครียดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งจากที่มีอยู่" ดร.เหวียนกล่าว "การให้ข้อมูลกับพนักงานให้มากเท่าที่ทำได้จะช่วยลดภาระจากการเปลี่ยนผ่านไม่ว่าครั้งไหน ๆ"