LinkedIn สื่อสังคมออนไลน์สำหรับการทำธุรกิจและจัดหางานที่ได้รับความนิยมทั่วโลก จากการศึกษาของ LinkedIn Statistics พบว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันกว่า 766 ล้านคน มีผู้ใช้งานที่ยังแอคทีฟสูงถึง 310 ล้านคนต่อเดือน และทุกวินาทีมีการส่งใบสมัครงานเข้ามาที่ LinkedIn ถึง 55 ใบสมัครต่อ 1 วินาที นอกจากนี้จากการศึกษาของ We Are Social ระบุว่า แม้จะมีผู้ใช้งานที่เป็นคนไทยอยู่เพียง 3.2 ล้านคน แต่เป็นผู้ใช้งานที่มีคุณภาพสูงกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ
แล้วเราสามารถเข้ามาใช้งาน LinkedIn ได้อย่างไรให้เกิดประโยชน์กับตัวเรา พร้อมเผยเทคนิค เคล็ดลับในการสมัครและหางานจาก LinkedIn กัน
LinkedIn คืออะไร
LinkedIn คือ อีกหนึ่ง Social Media ที่เน้นการใช้งานไปทางธุรกิจมากกว่าความบันเทิง โดยจะมีรูปแบบการทำงานเหมือนกับ Facebook เลย เพียงแค่ไปในทางธุรกิจและหางานสำหรับตอบโจทย์ตลาดแรงงานมากกว่า โดยเราจะสามารถสร้างบัญชีและใส่ข้อมูลต่าง ๆ ที่สำคัญลงไปเพื่อให้ผู้ว่าจ้างเห็นข้อมูลของเรา และยังมีฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่นหน้าโพสต์ให้กดไลก์ คอมเมนต์ หรือกดเพิ่ม Connection ที่เป็นเหมือนการเพิ่มเพื่อนของ Facebook
นอกจากนี้ผู้ใช้งาน LinkedIn ส่วนใหญ่ยังเป็นคนระดับสูง อย่างเช่น ผู้บริหาร ผู้จัดการ หรือ HR ทำให้เรามีโอกาสในการเข้าไปติดต่อกับคนเหล่านี้ได้ไม่ยาก
ฟีเจอร์ต่าง ๆ
Profile
เป็นหน้าโปรไฟล์ของคุณที่จะแสดงชื่อ รูป สถานที่ ประวัติการทำงาน ประวัติการศึกษาและข้อมูลอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการสมัครงาน และยังมี Resume หรือ CV ที่สามารถสร้างได้เอง เพื่อให้ HR ของบริษัทต่าง ๆ สามารถเห็นก่อนที่จะเรียกคุณเข้ามาเพื่อสัมภาษณ์งานต่อไป
Search bar
ช่องแถบค้นหาที่ช่วยให้คุณสามารถค้นหาสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่ว่าจะเป็น กลุ่ม บริษัท โพสต์ ผู้คน งาน สถาบันการศึกษา กิจกรรม และบริการ นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์การกรองแบบละเอียด ซึ่งคุณสามารถกำหนดค่าต่าง ๆ เพื่อให้ตรงกับสิ่งที่คุณต้องการค้นหาได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
Home
หน้าหลักของแพลตฟอร์ม หลังจากที่คุณ Log-In เข้าใช้งานแอปพลิเคชันแล้วจะเป็นหน้า Home ที่แสดงฟีดต่าง ๆ จากโพสต์ที่คุณไปมี Connections ไว้หรือเพจที่คุณไป Follow ไว้
My Network
คุณจะสามารถพบกับรายชื่อของคนที่คุณเคยเพิ่ม Connections ไว้ได้ที่หน้านี้ และยังมีตัวเลือกอื่น ๆ เช่น เพจ คนที่คุณ Following คนที่คุณอาจรู้จัก หรือค้นหาศิษย์เก่าของสถาบันต่าง ๆ ได้เช่นกัน
Jobs
ในทุก ๆ วันจะมีการโพสต์เพื่อจ้างงานอยู่ตลอดเวลา และ LinkedIn จะแนะนำงานที่เหมาะสมกับข้อมูลปัจจุบันของคุณที่ได้มีการกรอกไว้ รวมไปถึงสถานที่และรายละเอียดของงานที่คุณสามารถระบุเพื่อให้คุณได้งานที่ตรงใจคุณมากขึ้น
Messaging
คุณสามารถส่งข้อความส่วนตัวไปยังผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ที่คุณเคยเพิ่ม Connections ไว้ นอกจากนี้คุณยังสามารถส่งไฟล์แนบ รูปภาพ และอื่น ๆ ไปด้วยได้
Notifications
LinkedIn ก็มีระบบการแจ้งเตือนเหมือนกับ Social Media อื่น ๆ ช่วยให้คุณทราบเมื่อคุณได้รับข้อความ การรับรองความสามารถ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมสิ่งต่าง ๆ แจ้งเตือนงานที่เหมาะสมกับคุณ และการแจ้งเตือนอื่น ๆ
และยังมีฟีเจอร์อื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกเช่น ฟีเจอร์ Interest ที่ช่วยให้คุณสามารถติดตามสิ่งที่คุณสนใจบางอย่างบน LinkedIn ได้ เช่น เพจ กลุ่ม SlideShare สำหรับเผยแพร่ภาพสไลด์ หรือ Lynda ที่มีวัตถุประสงค์ด้านการศึกษา และฟีเจอร์ Pending Invitations ที่ช่วยให้คุณสามารถเลือกอนุมัติได้ว่าต้องการจะ Connect กับผู้เชี่ยวชาญที่เชิญคุณหรือไม่
ข้อดี ข้อเสีย
ข้อดี
ช่วยให้เราได้เข้าไปอยู่ในเครือข่ายสังคมที่น่าสนใจ และได้ความรู้จากเครือข่ายสังคมนั้น ๆ
ช่วยให้เราสามารถติดต่อคนระดับผู้บริหารหรือผู้จัดการ ได้ง่ายเพียงแค่กดเพิ่ม Connections
อาจจะมีงานที่น่าสนใจเข้ามาหาเราเองโดยที่เราไม่ต้องหาและอาจจะเพิ่มโอกาสให้เราได้งานง่ายมากขึ้น
ใช้เป็น Resume แบบออนไลน์ได้ ช่วยให้ในบางครั้งที่เราไม่สามารถใส่ข้อมูลบางอย่างลงไปในกระดาษได้ เราก็นำมาใส่ใน LinkedIn แทนได้
ข้อเสีย
ทุกครั้งที่เราเข้าไปส่องโปรไฟล์ของคนอื่น คนที่เราไปส่องจะรู้ได้ว่าตัวเองถูกส่องและรู้ว่าใครเป็นคนส่อง
งานที่ประกาศใน LinkedIn ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษหรือเป็นงานจากต่างประเทศ (ซึ่งอาจเป็นข้อดีสำหรับบางคน)
ช่วยในการหางานได้อย่างไร
จากเรื่องการติดต่อคนใหญ่คนโตที่เราได้กล่าวถึงด้านบน ทำให้เรามีโอกาสในการไปเสนอตัวเราให้กับคนระดับหัวหน้าได้โดยตรง ซึ่งถ้าประสบการณ์และความสามารถของเรามากเพียงพอ เราก็อาจจะได้รับการว่าจ้างได้จากหัวหน้าโดยตรงเลยก็เป็นได้
นอกจากคนระดับหัวหน้าแล้วก็ยังมี HR ของบริษัทต่าง ๆ อยู่ในนี้ด้วย เพราะมันเป็นแอปพลิเคชันสำหรับธุรกิจและการหางาน ทำให้เหล่า HR ระดับสูง ๆ เข้ามาเพื่อช่วงชิงพนักงานที่มีความสามารถให้เข้ามาทำงานที่บริษัทของตนเองกัน
แสดงให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นจะต้องเป็นฝ่ายรุกเพียงอย่างเดียว เราสามารถอัปโหลดข้อมูลและ Resume หรือ CV ของเราขึ้นไปบนโปรไฟล์และถ้ามีคนที่สนใจในความสามารถของคุณเขาจะติดต่อคุณมาเอง
5 สายงานที่ได้รับความนิยมในปี 2021
ทาง LinkedIn ได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ 5 อันดับสายงานที่ตลาดกำลังต้องการเมื่อเดือนมกราคม ปี 2021 เนื่องจากการระบาดของโรค Covid-19 ทำให้รูปแบบการทำงานและเทรนด์การจ้างงานเปลี่ยนไปจากเดิม แต่ต้องบอกก่อนว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลองค์รวมระดับโลกซึ่งเราสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์เทรนด์การจ้างงานของโลกได้ จะมีสายงานอะไรบ้างไปดูกันเลย
1. ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ
ในปีที่ผ่านมาบริษัทค้าปลีกและบริษัท Logistics ได้มีการว่าจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นสูงถึง 73% เมื่อเทียบกับปีก่อน เพื่อการส่งสินค้าให้ถึงมือของผู้บริโภคได้ดีที่สุด และยังมีการเปิดรับมากกว่า 4 แสนตำแหน่งในปัจจุบัน
ตำแหน่งยอดนิยม : Driver, Supply Chain Associate, Package Handler, Personal Shopper
ทักษะและความสามารถ : การบริหารเวลา, การบริการลูกค้า, ความเป็นผู้นำ
2. ผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อ
ปี 2020 เป็นปีที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ และยังมีการเปิดตัวโครงการเงินกู้ต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อได้รับการว่าจ้างเพิ่มขึ้น และยังมีการหาผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อเพิ่มอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2019 แล้วเพิ่มสูงถึง 59% เลยทีเดียว และเป็นอาชีพเดียวสามารถ WFH ได้และกว่า 1 ใน 4 สามารถทำงานจากที่บ้านได้
ตำแหน่งงานยอดนิยม : Underwriter, Mortgage Loan Officer, Escrow Officer, Loan Closer
ทักษะและความสามารถ : การบริหารความเสี่ยง, การบริการลูกค้า, การวิเคราะห์สินเชื่อ
3. พนักงานดูแลสุขภาพ
จากการระบาดของ Covid-19 ที่ทำให้ทั่วโลกนั้นวุ่นวายอยู่กับการหาทางออกของโรคนี้ ส่งผลให้เกิดความต้องการแพทย์ พยาบาลและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพต่าง ๆ สูงขึ้นแบบกะทันหันและต่อเนื่องกว่า 34%
ตำแหน่งงานยอดนิยม : Health Care Assistant, Pharmacy Technician, Dental Assistant, Home Health Aide
ทักษะและความสามารถ : ความรู้ด้านการดูแลผู้ป่วย, คีย์ข้อมูล, แพทย์สัมพันธ์
4. นักพัฒนาธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญด้านการขาย
จากเหตุการณ์โรคระบาดทำให้หลาย ๆ ธุรกิจต้องมีการปรับตัวให้อยู่รอดและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แม้ว่าในบางตำแหน่งอาจจะถูกปลด แต่สายงานด้านการขายนั้นยังจำเป็นต่อหลาย ๆ ธุรกิจ ทำให้อัตราการจ้างงานในสายน้ำเพิ่มขึ้นถึง 45% ระหว่างปี 2020 และ 2019
ตำแหน่งงานยอดนิยม : Sales Consultant, Sales Operations Assistant, Inbound Sales Specialist, Strategic Advisor
ทักษะและความสามารถ : การรักษาลูกค้า, กระบวนการขาย, การสร้างทีม
5. ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลาย
จากเหตุการณ์ชายผิวสีถูกตำรวจทำเกินกว่าเหตุในการจับกุมจนถึงแก่ชีวิต ทำให้มีการประท้วงเรื่องการเหยียดสีผิว ทำให้แต่ละบริษัททั่วโลกตามหาตัวผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลาย ในการจัดการดูแลองค์กรให้มีความเท่าเทียมและได้รับความเห็นใหม่ ๆ ทำให้มีการจ้างงานตำแหน่งนี้เพิ่มขึ้น 90% นับตั้งแต่ปี 2019
ตำแหน่งงานยอดนิยม : Sales Consultant, Sales Operations Assistant, Inbound Sales Specialist, Strategic Advisor
ทักษะและความสามารถ : การเผยแพร่สู่ชุมชน, การสอน, การพัฒนาองค์กร
LinkedIn Learning
ทาง LinkedIn ได้มีการเปิดคอร์สต่าง ๆ ให้คนที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะการทำงานให้กับตัวเองได้ แต่ก็ต้องบอกก่อนว่าไม่ฟรี แอบใจดีนิดหนึ่งคือจะมีช่วงทดลองให้ลองเรียนดูก่อนได้ ประมาณ 1 เดือน โดยจะมีคอร์สให้เรียนเยอะและหลากหลายมาก พร้อมคอร์สออกใหม่อยู่ตลอดเวลา ทำให้เราสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นคอร์สเสริมทักษะการบริหารจัดการ การวางแผน ทักษะการใช้โปรแกรมต่าง ๆ และอื่น ๆ อีกมากมาย คุณสามารถเข้าไปเลือกชมได้ที่ LinkedIn Learning
คำถามที่พบบ่อย
เพิ่งเริ่มใช้ ควรโฟกัสอะไรก่อน?
สิ่งสำคัญที่สุดคือการเสนอตัวไปอยู่ในแพลตฟอร์มให้มากที่สุด ที่แห่งนี้ไม่ใช่ที่ที่สามารถโฟกัสสิ่งเดียวแล้วจะเห็นผล แต่ต้องคิดอย่างรอบด้าน คุณต้องจัดการให้มากกว่าแค่กระบวนการ ข้อมูลส่วนตัว โปรไฟล์บริษัท เพื่อให้ได้ผลกับคุณมากที่สุด
ควรจ่ายราคาพรีเมียมหรือไม่?
หากคุณใช้ฟีเจอร์ที่มีให้ฟรีจนหนำใจแล้ว คุณสามารถจ่ายเพิ่มเพื่อเข้าถึงฟีเจอร์ระดับสูง เช่นความสามารถในการค้นหาตามจำนวนพนักงาน ทรัพย์สินของบริษัท และเพิ่มผู้เข้าชมโปรไฟล์ต่อวันได้
ควรใส่รูปโปรไฟล์ในหน้าของตัวเองไหม?
ควร เพราะมีโอกาสที่คนอื่นจะเข้ามาดูโปรไฟล์ของคุณมากกว่าโปรไฟล์ที่ไม่มีรูปถึง 21 เท่า โดยระบุไว้ในสถิติของทาง LinkedIn เอง คุณไม่ใช่คนเดียวที่ออยากรู้จักใครบางคนน้อยลงเมื่อเข้าไปส่องโปรไฟล์ของพวกเขาแล้วไม่เห็นหน้าค่าตา เนื่องจากแบบสำรวจแสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ไม่ไว้ใจคนที่พวกเขาไม่สามารถมองเห็นได้
โปรไฟล์ของฉันและโปรไฟล์สาธารณะต่างกันอย่างไร?
เมื่อมีคนค้นหาคุณบน LinkedIn รวมถึงในแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มของ Third Party ด้วย โปรไฟล์สาธารณะของคุณจะปรากฏให้พวกเขาเห็นได้ สามารถเปิดปิดการมองเห็นส่วนต่างๆ ของโปรไฟล์สาธารณะของคุณได้ ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของคุณ
การระบุข้อมูลติดต่อบนโปรไฟล์ปลอดภัยหรือไม่?
ส่วนใหญ่การระบุข้อมูลติดต่อไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะทุกวันนี้ เราสามารถค้นหาที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ได้หลายวิธี ไม่ว่าจะบน Social Media อื่น ๆ รวมถึงไดเรกทอรีออนไลน์ เว้นแต่คุณมีประวัติอาชญากรรม สถานะผู้มีชื่อเสียง หรืองานที่ต้องการความปลอดภัยในระดับสูงก็ต้องว่ากันอีกที
ควรอัพเดทโปรไฟล์ LinkedIn บ่อยแค่ไหน?
หากผู้ติดต่อใน Connection ของคุณสังเกตเห็นความเคลื่อนไหวบนหน้าโปรไฟล์เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน คงตีความได้ว่าคุณกำลังมองหาโอกาสใหม่ แนะนำให้ตรวจสอบทุก ๆ สามเดือนเพื่อให้แน่ใจว่าโปรไฟล์ของคุณนั้นอัปเดตอยู่เสมอแม้ว่าคุณจะไม่ได้มองหางานอยู่ก็ตาม โปรไฟล์บน LinkedIn จำนวนกว่า 50% ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นตรวจสอบให้แน่ใจว่าโปรไฟล์ของคุณไม่ได้อยู่ใน 50% นั้น
สนใจในการสร้างเพจสำหรับองค์กรบน LinkedIn หรือเปล่า?
หากแบรนด์ของคุณต้องการสร้างเพจสำหรับแบรนด์ของตัวเองและทำการตลาดบน LinkedIn ทีมงาน Sphere Agency พร้อมช่วยจัดการในการทำการตลาดให้คุณตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้แบรนด์ของคุณบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ถ้าอยากรู้ว่าบริการ LinkedIn Marketing ของเรา จะช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับแบรนด์ของคุณได้แค่ไหน ลองติดต่อมาคุยกัน